ความเป็นมาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
การวิจัยในมนุษย์เป็นภารกิจที่องค์การและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศให้ความสำคัญตลอดมา และพยายามวางแนวปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม โดยมีพื้นฐานที่เน้นตระหนักถึงสิทธิและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เข้าร่วมวิจัย มีวัตถุประสงค์ที่จะลดความเสี่ยงหรือป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้เข้าร่วมการวิจัยทุกคน ดังนั้นในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ผู้ดำเนินการวิจัยต้องเคร่งครัดชัดเจนต่อระเบียบวิธีวิจัยที่เหมาะสมตามหลักวิชาการและไม่ขัดต่อจริยธรรม รวมถึงมีการบริหารจัดการและดำเนินงานตามหลักจริยธรรมสากล
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของจริยธรรมในการบริหารจัดการและดำเนินการงานวิจัยในมนุษย์ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (The Ethics Committee in Human Research, National Institute of Development Administration—ECNIDA) เพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการวิจัยในมนุษย์ซึ่งดำเนินการโดยคณาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย บุคลากรของสถาบัน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความถูกต้องเหมาะสมตามหลักจริยธรรมสากล โดยมีงานสนับสนุนการพิจารณาการรับรองมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB) ของสถาบัน กองบริหารการวิจัย สำนักวิจัย ทำหน้าที่สนับสนุนและบริการเพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์เป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุจริต อิสระ ยุติธรรม และปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมการวิจัย